นักวิชาการชี้เหตุ น.ร.เร่สอบทุกวิชา คิดไม่เป็น-ขาดเป้าหมายทั้งเน้นเลือกมหา"ลัยดัง...............
รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี
ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง
"เตรียมพร้อมเข้ามหาวิทยาลัย" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเอเชียน
เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยมี ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
(องค์กรมหาชน) หรือ สทศ. และดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียนร่วมอภิปราย ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เปลี่ยนระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2553
เนื่องจากระบบเดิมเป็นการสอบที่ไม่มีการวัดความถนัด
ประกอบกับมีสถาบันอุดมศึกษาเกิดขึ้นมากกว่า 165 แห่ง
ศธ.จึงเปลี่ยนระบบการสอบคัดเลือกโดยเพิ่มการสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT (General
Aptitude Test) ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือความสามารถในการอ่าน เขียน
คิดวิเคราะห์และแก้โจทย์ปัญหา
และอีกครึ่งเป็นการวัดภาษาอังกฤษซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนระดับมหาวิทยาลัย
และการสอบเพื่อวัดความถนัดทางวิชาชีพ หรือ PAT (Professional and Academic Aptitude
Test)
ด้านดร.วิพรรธ์ กล่าวว่า
อยากให้นักเรียน นักศึกษาตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าเรียนไปเพื่ออะไร
หลักในการเรียนไม่ใช่เรียนทุกอย่างแต่ต้องเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบเพียงอย่างเดียว
อยากเรียนอะไรต้องทำให้เก่งและเข้าใจเสียก่อน ใช้เวลาสัก 1-2 ปี
เพื่อไปเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบแต่ไม่เข้าใจ อย่าคิดว่า 1-2 ปีนั้นเป็นการเสียเวลา
และอย่าทำตามค่านิยมที่ว่าต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เท่านั้น
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า
ปัญหาที่พบมากคือเด็กไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไรจึงสมัครไปทุกวิชา
แสดงให้เห็นว่าคิดไม่เป็น อยากให้เด็กเลือกสอบครั้งที่พร้อมที่สุด
อีกปัญหาคือค่านิยมของเด็กและผู้ปกครองที่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
ทั้งที่ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการรองรับนักศึกษาเพียงพอ
แต่เด็กกลับแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนค่านิยมได้
การเข้ามหาวิทยาลัยอาจไม่ดุเดือดเช่นที่เป็นอยู่
ที่มา ข่าวสดรายวัน วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6613 หน้า 28